ร่องรอย

โรงเรียนสตรีฝึกหัดครูนครปฐม
สถานศึกษาแห่งนี้เกิดขึ้นโดยข้าราชการของกระทรวงศึกษาธิการ ได้ริเริ่มดําเนินการผนวกกับได้รับความร่วมมือจากข้าราชการ ฝ่ายปกครองของจังหวัดนครปฐม
              โรงเรียนสตรีฝึกหัดครูนครปฐมตั้งอยู่บนเนื้อที่ 13 ไร่
200 ตารางวา ทิศเหนือจดถนนเพชรเกษม (เดิมชื่อถนนเทศา) ทิศใต้จดที่ดินของวัดไผ่ล้อม ทิศตะวันออกจดถนนซอยเข้า
วัดไผ่ล้อมทิศตะวันตก จดถนนซอยข้างที่ว่าการอำเภอเมือง
ที่แห่งนี้เดิมเป็นที่ตั้งที่ว่าการ มณฑลนครชัยศรี  แต่ในราว
           ปีพุทธศักราช 2452-2543
มาจนถึง สมัยยุบมณฑล
อาคารหลังอื่นๆ ถูกรื้อไปทําประโยชน์ที่อื่นแล้ว ยังคงเหลืออยู่
2 หลัง เพราะเป็นตึกเก่า ได้แก่ตึกหอทะเบียน กับเรือนหลังครึ่งตึกครึ่งไม้


บ้านเลขที่ 85
การก่อตั้งสถานศึกษา

ในปีพุทธศักราช 2477 ขุนโกศลเศรษฐีศึกษาธิการจังหวัดนครปฐมได้จัดตั้ง โรงเรียนประถมวิสามัญหญิงขึ้นที่ตึกหอทะเบียนมณฑลนครชัยศรี เดิมเป็นที่เรียนและฝึกอาชีพเพื่อให้เด็กหญิงที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และเพื่อให้
ผู้ปกครองที่มีฐานะยากจนแต่ต้องการให้บุตรหญิงของตน มีอาชีพเป็นครูและไม่มีทุนเรียนชั้นสูงในชั้นสามัญได้มีวิชาอาชีพมาเข้าเรียน โดยเริ่มรับนักเรียนหญิง
ที่จบชั้นประถมศึกษามาเรียนวิชาช่างสตรี และช่างเย็บเสื้อผ้าเรียกชื่อว่า
โรงเรียนประถมวิสามัญหญิงแผนกการช่าง รับนักเรียนเฉพาะประเภทเดินเรียน
ในปีแรกที่ตั้งโรงเรียนนี้มีนักเรียนในอําเภอเมืองมาเรียนประมาณ 50-60 คน
ซึ่งก่อนหน้านี้มีแต่โรงเรียนฝึกหัดครูชายสําหรับด้านการสอนนั้นได้จัดครูที่มี
วุฒิวิชาสามัญสอนวิชาสามัญในตอนเช้าตอนบ่ายสอนวิชาการช่างสตรีช่างทอและช่างตัดเย็บเสื้อผ้าแต่ละวิชามีครูที่เชี่ยวชาญแต่ละด้านเป็นอย่างดี
นักเรียนต้องเรียนวิชาสามัญทุกคน แล้วเลือกเรียนวิชาชีพกันคนละแขนง


ในปีพุทธศักราช 2478 ทางจังหวัดได้ให้อาจารย์นันทา บุณยประภัสร ครูของโรงเรียนราชินีบูรณะมารักษาการแทนครูใหญ่ โรงเรียนประถมวิสามัญหญิงแผนกการช่าง (ลํายอง วิศาลดรุณกร) ครูรักษาการแทนครูใหญ่ได้ดูแลการงานไปตามแผนเดิมที่วางไว้ และได้ชักชวนชาวบ้านทั่วๆไปส่งบุตรหลานมาเรียนโรงเรียนนี้ครั้นเห็นว่าชาวบ้านไม่นิยมวิชาชีพที่จัดไว้และกอปรกับศึกษาธิการจังหวัด
ผู้ก่อตั้งก็ย้ายไปรับราชการจังหวัดอื่นเสียแล้ว ครูใหญ่ก็วิตกว่า โรงเรียนประถมวิสามัญจะไปไม่รอด และได้ทราบอยู่ว่าชาวบ้านนิยมให้
บุตรหลานเป็นครู ทั้งครูชนบทก็มีแต่ชาย เพราะในจังหวัดนี้ได้มีโรงเรียนฝึกหัดครูชายแล้ว แต่ไม่มีโรงเรียนฝึกหัดครูหญิง จึงควรที่จะได้จัดให้มีขึ้นบ้าง จึงหาทางติดต่อขอเสนอความคิดเห็นไปยังผู้ปกครองบ้านเมือง บ้างพ่อค้าประชาชน บ้างต่างพากันเห็นชอบด้วยมาก
ครูใหญ่จึงหาทางที่จะเตรียมการให้เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูขึ้นให้จงได้ โดยได้ทําหนังสือผ่านจังหวัดถึงกระทรวงศึกษาธิการ
จนได้รับความช่วยเหลือจากท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตราธิการ คือ
ขุนสกนธ์วิทย์ ศึกษาธิการ ได้ช่วยกรุณาเป็นทั้งผู้ขอและผู้ให้จึงได้เรือนคลังและบริเวณมาเป็นหอนอนของนักเรียนตามวัตถุประสงค์
และภายหลัง ครูใหญ่ได้ขอขยายอาณาเขตบริเวณโรงเรียนไปจนหมดทั้งแปลง
ในปีพุทธศักราช 2479 ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม(พระคลังกลางสมุทร)
ได้ใช้แรงงานนักโทษมาแผ้วทางทําความสะอาดบริเวณที่ได้ใหม่พร้อมกับล้อมรั้วสังกะสีกำหนดบริเวณและ
ท่านปลัดเทศบาล (เจือบุณยประภัสร) ได้กรุณาจัดหาสิ่งของและแรงงานสร้างเรือนครัวส้วมห้องน้ำชั่วคราวขึ้น
เพื่อให้ทันเปิดภาคเรียนใหม่ซึ่งในราวพุทธศักราช 2477-2481 คุณครูใหญ่ลํายอง วิศาลดรุณกร
ได้ตั้งงบประมาณ ขอโรงอาหารห้องน้ำถาวรบ้านพักภารโรง ได้มาอีกรวม 3 หลัง
ต่อมา อาจารย์นันทา บุณยประภัสร ได้ตั้งงบประมาณขอสร้างบ้านพักครู ได้มาอีก 3 หลังได้แก่
บ้านอาจารย์ใหญ่1หลังบ้านครูแม่บ้าน 1 หลัง และขอสร้างหอนอนได้มาอีก 1 หลัง ในภาคเรียนภาคต้นนั้น
พอได้รับอนุญาตให้เปิดโรงเรียนฝึกหัดครูได้ก็ได้ทําพิธีเปิดเป็นเกียรติอย่างย่อมมีการทําบุญเลี้ยงพระ
เชิญข้าราชการและผู้ปกครองนักเรียนมาประชุมโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้เปิดป้ายว่า
“โรงเรียนสตรีฝึกหัดครูนครปฐม”ในวันพิธีเปิดนั้นตรงกับวันอังคาร จึงเป็นเหตุให้กําหนดเอาสีชมพู-แดง
เป็นสีธงกีฬาประจําโรงเรียนฝึกหัดครู ซึ่งโรงเรียนฝึกหัดครูนครปฐมนี้ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 86 ถนนเทศา อําเภอเมือง
จังหวัดนครปฐม ในช่วงภาคกลาง (ภาคเรียนที่ 2) ของปีพุทธศักราช 2479 นี้ อาจารย์นันทา บุณยประภัสร
ได้รับคําสั่งกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งไปเป็นผู้รักษาการครูใหญ่โรงเรียนสตรีประจําจังหวัดสมุทรสาครส่วนทางโรงเรียนฝึกหัดครูนี้ทางจังหวัดได้ให้คุณครูใหญ่ลํายองมาเป็นครูใหญ่เป็นรอบสอง


ต่อมาในปีพุทธศักราช 2481 อาจารย์นันทา บุณยประภัสร ได้ย้ายกลับมาเป็นครูใหญ่โรงเรียนนี้อีก เพราะสามีถึงแก่กรรม ครอบครัวมีแต่คนชรากับเด็ก ๆ กระทรวงศึกษาธิการเห็นความจําเป็นจึงกรุณาให้กลับมาทํางานยังภูมิลําเนาเดิมและดําเนินงาน ที่ริเริ่ม
ไว้ต่อไป ในระยะนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งโรงเรียนอาชีวศึกษาขึ้นในส่วนภูมิภาค ทางการได้แยกการช่างสตรี ช่างตัดเย็บของเดิม
ในโรงเรียนนี้ไว้ที่โรงเรียนการช่างต่างกรมกองกันออกไปกระทรวงศึกษาธิการได้ให้รับนักเรียนจบ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่อยู่ในที่กันดาร
มาอบรมเป็นครูประชาบาล เป็นเวลา 1 ปี เรียกว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษา 1 พิเศษ จากนั้นมาก็เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูล้วน
(ไม่มีการช่างปน) ต่อมาทางการคงเห็นว่าชั้นมัธยมศึกษา 1 พิเศษ ยังเป็นครูที่ด้อยคุณภาพมาก จึงสั่งให้รับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
มาอบรม 3 ปี เรียกว่า ฝึกหัดครูประชาบาล ทางราชการได้ยุบโรงเรียนสุพรรณบุรี แล้วได้อาจารย์สาววิเชียร ชาติบุญเกิด
มาเป็นครูโรงเรียนนี้อีก 1 คน และได้ให้รับนักเรียนต่างจังหวัดเช่น จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรีประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงครามและชุมพร ซึ่งทางจังหวัดเหล่านั้นส่งมาเป็นนักเรียนครูจะได้รับค่าอุดหนุนมาเป็นค่าอาหาร ของนักเรียนต่างกัน เมื่อเปิดเป็นฝึกหัดครูใหม่ ต้องใช้วิธีเก็บค่าอาหารจากนักเรียนคนละ 5 บาทต่อเดือน เมื่อทางโรงเรียนฝึกหัดครูเจริญขึ้นก็ได้รับความกรุณาให้เปิดชั้นฝึกหัดครูมูล
ขึ้นอีกชั้นหนึ่งนับว่าเป็นเกียรติยศของจังหวัดนครปฐมเป็นอย่างมากแม้จะเริ่มด้วยฐานะยากจนก็ยังกระเสือกกระสนขึ้นจนเป็น
โรงเรียนฝึกหัดครูมูลได้ตรงกับเป็นวุฒิของครูใหม่ที่ได้รับมาจากโรงเรียนเบญจมราชาลัยที่ให้กําเนิดครูหัวเมืองมาก่อนการปกครอง
การสอนก็ดําเนินมาตามครรลองของโรงเรียนที่เจริญทั้งหลายด้วยการไปศึกษาดูงานจดจํามาบ้างตามหลักสูตรที่บ่งไว้บ้าง
พอเป็นทางปฏิบัติมาจน อาจารย์นันทา บุณยประภัสร ย้ายไปเป็น อาจารย์แม่บ้านที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร
ในปีพุทธศักราช 2494 ได้พาครูและนักเรียนไปแสดงกิจกรรมในงานศิลปหัตถกรรมที่โรงเรียนสวนกุหลาบ จัดนักเรียนเป็น 2 พวก พวกหนึ่งแสดงกลางแจ้ง ในบทบาทของการรบแบบโบราณมีการตีกระบี่กระบองพวกหนึ่งทําอาหารขายแต่ผู้ไปชมงานศิลปหัตถกรรม ซึ่งได้จัดทําอยู่เป็นประจําทุกปีก็จะไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ นอกจากนั้น ยังมีการลอยเรือ เห่เรือในวันลอยกระทงอีกด้วย
ในปีพุทธศักราช 2486 ทางศึกษาจังหวัดเรียกครูประชาบาลหญิง
ที่มีพื้นความรู้ต่ําได้เงินเดือนเพียง 8-10 บาทมาส่งให้
โรงเรียนฝึกหัดครูอบรมเพื่อได้ให้เลื่อนขั้นเงินเดือนสูงขึ้นไป
โรงเรียนก็ได้รับไว้อบรมเป็นเวลานานตามสมควรโดยให้นักเรียน
อยู่ร่วมกับนักเรียนครูและให้ความรู้ตามหลักสูตรครูประชาบาลครูใหญ่และครูประจําชั้นฝึกหัดครูผลัดกันมาบรรยายแต่ละชั่วโมงจนกว่า
จะเสร็จสิ้นตามกําหนดการอบรม


2495
ครูใหญ่ได้ชักชวนนักเรียน
ฝึกซ้อมละครพันทาง
ในปีพุทธศักราช 2495 ครูใหญ่
ได้ชักชวนนักเรียนฝึกซ้อมละครพันทางเรื่องราชาธิราชจัดฉากเอกแล้ว
เชิญบรรดาครูนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ภายในอําเภอเมืองมาชม โดยเก็บค่าดู
ราคาย่อมเยาในเวลากลางวันเป็นเวลา สัปดาห์หนึ่งจึงได้เงินค่าแสดงมาจ้าง ช่างขยายห้องแคบๆที่ทางทิศตะวันออก และตะวันตกของหอเรียนมาเป็น
ห้องรับแขก และห้องสมุดย่อยๆ และ
ซื้อโต๊ะหมู่ที่บูชาที่ทาทองล่องชาด
และ รูปภาพที่จําเป็นมาไว้ประดับกับ
ทําโรงอาหารมุงด้วยจากคู่กับ
โรงอาหารเดิมให้นักเรียนได้อาศัย
ไม่ต้องยัดเยียดกัน
2501
อาจารย์ พเยาว์ ศรีหงส์
ได้ย้ายมาดํารงตําแหน่งอาจารย์ใหญ่
ปีพุทธศักราช 2497 อาจารย์บุญจันทร์ วงศ์รักมิตร มาดํารงตําแหน่งอาจารย์ใหญ่
ปีพุทธศักราช 2498 เปิดรับนักเรียนฝึกหัดครู ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) ขึ้นเป็นปีแรก และรับนักเรียนจากต่างจังหวัด ดําเนินการสอนมาด้วยดี
ปีพุทธศักราช 2499 หลักสูตรการฝึกหัดครูเดิม (ป.ป., ป.ว.,ป.ม.) ได้ถูกยุบ เลิกประกาศใช้หลักสูตร ป.กศ.แทนทั่วประเทศ และต่อมาใน ปีพุทธศักราช 2501 ได้เปิดสอนประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง และประกาศนียบัตรครูมัธยม โรงเรียนฝึกหัดครูที่เปิดสอนถึงระดับ ป.กศ. ชั้นสูง
ปีพุทธศักราช 2501 อาจารย์พเยาว์ ศรีหงส์ ได้ย้ายมาดํารงตําแหน่งอาจารย์ใหญ่
ปีพุทธศักราช 2503 เปิดรับนักเรียนฝึกหัดครูชายขึ้น สังกัดจังหวัดนครปฐม ประเภทเดินเรียนรู้
2505
เปิดโครงการฝึกหัดครูชนบท
ปีพุทธศักราช 2505 เปิดโครงการฝึกหัดครูชนบทขึ้นตามนโยบายของกรมการฝึกหัดครู ขณะนั้น
พระเทพวรเวที (พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ วัดไร่ขิงในปัจจุบัน)มีส่วนช่วยให้ประเทศชาติได้ครูดี โดยให้ความร่วมมือกับกรมการฝึกหัดครูสร้างบ้านพักให้กับโครงการฝึกหัดครูชนบท เพื่อให้นักศึกษาฝึกสอน และครูอาจารย์
พักอาศัยระหว่างการฝึกสอนที่โรงเรียนวัดไร่ขิงและโรงเรียนอนันต์สุนทรศึกษาและถือเป็นหน่วยฝึกสอน
ที่มีประสิทธิภาพถึงขนาดท่านอธิบดีบุญถิ่น อัตถากร ได้ยกย่อง เป็นตัวอย่างแก่หน่วยอื่นๆอยู่เสมอ ทั้งนี้
เพราะได้รับความเมตตาจากพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ช่วยสนับสนุน ส่งเสริมติดต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน
2508
อาจารย์นิตยา วัฒนจินดา
ได้มาดํารงตําแหน่งอาจารย์ใหญ่
ปีพุทธศักราช 2508 อาจารย์นิตยา วัฒนจินดา ได้มาดํารงตําแหน่งอาจารย์ใหญ่แทน อาจารย์พเยาว์ ศรีหงส์ ซึ่งไป
ดํารงตําแหน่งอาจารย์ใหญ่วิทยาลัยครูยะลา ซึ่งขณะนั้นจํานวนนักเรียนได้เพิ่มมากขึ้นตามลําดับ แต่เนื่องจาก บริเวณโรงเรียน
คับแคบมาก โดยมีเนื้อที่ทั่วไปเพียง 13 ไร่ เท่านั้นทําให้ไม่สามารถจะสร้างอาคารเพิ่มเติมได้ เป็นเหตุให้โรงเรียนรับนักเรียน
ได้จํานวนจํากัด และจัดว่าโรงเรียนฝึกหัดครูนครปฐมเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูที่เล็กที่สุด ในจํานวน 25 แห่ง ขณะนั้น ทางจังหวัด  และกรมการฝึกหัดครู เข้าใจถึงปัญหานี้ดี จึงดําริจะย้ายโรงเรียนไปก่อสร้าง ใหม่ในการจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างสถานศึกษาแห่งใหม่
ท่านพระธรรมมหาวีรานุวัตรสมณศักดิ์ ขณะนั้นเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง (พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ในปัจจุบัน) ได้เมตตา
ให้ความช่วยเหลือโดยไปขอที่ของวัดใหม่มุสิการาม (วัดใหม่ปิ่นเกลียวในปัจจุบัน) และนายพล วงศาโรจน์ ผู้ว่าราชการ
จังหวัดนครปฐมขณะนั้น ได้กรุณาติดต่อ และจัดซื้อที่ดินของสภากาชาดไทย ให้เนื้อที่ 61 ไร่ 3 งาน 68 ตารางวา นอกจากนั้น
ทางจังหวัดได้ให้ใช้ที่ดินหนองน้ำสาธารณประโยชน์หรือทุ่งไอ้กองประมาณ 25 ไร่ 1 งาน และวัดมุสิการาม (วัดใหม่ปิ่นเกลียว)
ได้ให้ใช้ที่ดินของวัดอีกประมาณ 48 ไร่ 2 งานรวมเป็นเนื้อที่ประมาณ 135 ไร่ 2 งาน 68 ตารางวา  จึงนับได้ว่า
ท่านพระอุบาลีคุณูปมาจารย์วัดไร่ขิงปัจจุบันเป็นบุคคลสําคัญยิ่งในการช่วยหาสถานที่ก่อตั้งวิทยาลัยครูนครปฐม อันเป็นรากฐานให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้ได้เติบโตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน (พระครูปราการลักษาภิบาล, 13 ตุลาคม 2549)

เนื่องจากที่ดินมีสภาพเป็นสุสานหรือป่าช้าและป่ารกทึบมีหนองน้ำใหญ่
เจ้าอาวาสวัดใหม่มุสิการาม (พระครูปราการลักษาภิบาลวัดใหม่ปิ่นเกลียวในปัจจุบัน)
จึงได้ทําพิธีล้างป่าช้า โดยเชิญเซียนมาจากจังหวัดชลบุรี และกรุงเทพมหานคร จํานวน 2 ชุด
มาดําเนินการล้างป่าช้า เพื่อความเป็นสิริมงคลกับคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาที่จะมาอยู่ใหม่ โดยท่านลงแรงทํางานด้วยตนเองพร้อมกับพระสงฆ์ในวัดตรากตรําทุกเช้าเย็นกล่าวคือ
พอบิณฑบาตในตอนเช้ากลับมาฉันอาหารเช้าเสร็จเรียบร้อยก็นําพระสงฆ์ออกแผ้วถางป่า
กลางวันก็กลับมาฉันเพลแล้วออกแผ้วถางต่อจนเย็นทั้งนี้ท่านมีความตั้งใจแน่วแน่และมุ่งมั่นที่จะทําเพื่อการศึกษา และเยาวชนของชาติโดยเริ่มแผ้วถางป่ารกทึบก่อนวันประกาศ ของจังหวัดนครปฐม
คือ ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2510 ใช้เวลาในการแผ้วถางนานถึงปีเศษ ๆ

หลังจากที่ท่านเจ้าอาวาสวัดใหม่มุสิการามและกรรมการวัดได้มอบที่ดินแห่งนี้ให้แก่ทางราชการ
เพื่อใช้ประโยชน์แก่การศึกษาของชาติสืบไปนั้น ทางวัดได้มีประกาศลงวันที่ 25 มีนาคม 2508
แจ้งให้ผู้ที่มีที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ของวัดใหม่มุสิการามฝั่งตะวันตก ของถนนมาลัยแมน
และผู้ที่เป็นเจ้าของเจดีย์ที่ฝังศพตลอดจนสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในเขตนั้นทราบทั่วกัน
ขอให้จัดการย้ายที่อาศัยถอนสิ่งก่อสร้างให้พ้นเขตพื้นที่นั้น ภายในวันที่ 30 กันยายน 2508 ดังนั้นเพื่อยืนยันในการใช้ที่ดินแปลงนี้ในการสร้างโรงเรียนฝึกหัดครูนครปฐม ทางจังหวัดนครปฐม
โดย นายพล วงศาโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ได้ประกาศให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่
และผู้ที่เป็นเจ้าของเจดีย์ที่ฝังศพ ตลอดจนสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ให้ทราบอีกครั้ง

ทางวัดได้เริ่มทําการขุดล้างป่าช้าที่ดินแปลงนี้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม 2510
ซึ่งตรงกับ วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปีมะแม เป็นต้นไป และเริ่มงานพิธีล้างป่าช้าใน
วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม 2510
ซึ่งตรงกับ วันแรม 8 ค่ำ เดือน 8 ปีมะแม
พิธีกรรมล้างป่าช้า
พิธีกรรมล้างป่าช้า ในการประกอบพิธีกรรมล้างป่าช้านี้เจ้าอาวาสวัดใหม่ปิ่นเกลียว
ในปัจจุบันเล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่าทางวัดใหม่มุสิการามขณะนั้น
ได้รับความอนุเคราะห์จาก นายสุธี บุณยศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมพ่อค้าแห่งนครปฐม
รับเป็นเจ้าภาพจัดงานบริหารงานและดําเนินการล้างป่าช้าตลอดจนเชิญดวงวิญญาณ
ออกจากบริเวณสุสานทั้งหมดโดยติดต่อกับพุทธสมาคมสงเคราะห์มาตั้งทําพิธีเป็นการใหญ่ มีเซียนมาชี้ที่ขุดศพ ได้ศพที่เป็นรูปร่าง จํานวน 100 ศพเศษ



ผ้าฮู้ เป็นสิ่งที่ผู้ร่วมพิธีกรรมมีไว้พกติดตัว
ที่มา : เยาวภา สมศรี, 2549, สัมภาษณ์



โฉนดที่ดิน



พระครูปราการลักษาภิบาล
จากโรงเรียนสตรีฝึกหัดครูสู่
โรงเรียนฝึกหัดครูนครปฐม
การก่อสร้าง


24 ตุลาคม พุทธศักราช 2411
โรงเรียนสตรีฝึกหัดครูนครปฐม
เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูนครปฐม
ปีพุทธศักราช 2511 กรมการฝึกหัดครูได้จัดสรรงบประมาณจํานวนร่วม 10 ล้านบาท
ให้เป็นการก่อสร้างโรงเรียนฝึกหัดครูนครปฐมณที่ใหม่ซึ่งได้เริ่มจากสร้างถนนคอนกรีต
กว้าง 7 เมตรยาว 400 เมตร 1 สายสร้างถังประปาจากบาดาลบรรจุ น้ำ 50 ลบ.ม.
เดินไฟฟ้าทั้งแรงสูงและแรงต่ำพร้อมหม้อแปลงขนาด 100 เควีเอ. สร้างอาคารเรียน
โรงฝึกงานอาคารนอนบ้านพักอาจารย์ใหญ่บ้านพักครูคนงาน ภารโรง โรงอาหารโรงครัวการก่อสร้างต่างๆนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน พุทธศักราช 2511 โดย
กระจายทำไปทุกจุดโดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมงานของโรงเรียน คืออาจารย์อนงค์รักหลวง
ตำแหน่งอาจารย์โททำหน้าที่หัวหน้าหมวดหัตถศึกษาทางด้านบริษัทพระนครก่อสร้าง
ซึ่งเป็นผู้ทำการก่อสร้างอาคารส่วนใหญ่ทั้งหมดในขณะที่งานก่อสร้างด้านอาคารดำเนินไปปัญหาที่จำต้องรีบคิดอ่านแก้ไขก็ตามมาโดยลำดับปัญหาเหล่านี้ล้วนจำเป็น
ทั้งเพื่อรักษาอาคารที่สร้างเสร็จให้ปลอดภัยจากการทรุดของดินจำเป็นสำหรับผู้เข้ามาอยู่
ว่าจะดำเนินชีวิตกันอย่างไรในเมื่อถนนที่สร้างนี้ มีถนนคอนกรีตเพียงสายเดียว
ยาว 400 เมตร ส่วนถนนอื่นๆที่มีอยู่ในผังบริเวณนั้น คงเป็นทุ่งนาป่ารกและหนองน้ำและ
งบประมาณเพื่อการนี้หามีไม่ถ้าจะรวบรวมปัญหาต่างๆ อันเนื่องจากการก่อสร้างโรงเรียนก็จะได้ส่วนซึ่งเป็นช่องว่างที่จะต้อง พยายามแก้ต่อไปเพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น


การขยาย
และ
การปรับปรุงโรงเรียน
เนื่องด้วยการก่อสร้างโรงเรียนตามงบประมาณปีพุทธศักราช 2511 กำหนดว่าจะแล้วเสร็จตามสัญญาในวันที่ 24 สิงหาคม 2512 ซึ่งอาคารเรียน
ที่สร้างเสร็จนี้จะสามารถรับนักเรียนได้เต็มที่ ประมาณ 550 คน เหตุผลข้อนี้ทำให้คณะครูในโรงเรียนคิดถึงปัญหาว่า ถ้าโรงเรียนจะยังคงรับนักเรียน
ในปีพุทธศักราช 2512 เท่ากับอัตราของปีพุทธศักราช 2511 คือ 7 ห้องเรียน หรือ 272 คน ก็จะทำให้เกิดการสูญเปล่าไป สำหรับที่เรียนอีกร่วม
300 ที่ เป็นเวลานานถึง 2 ภาคเรียนทางโรงเรียนจึงต้องตัดสินใจขยายห้องเรียนเตรียมรับโครงการก่อสร้างตั้งแต่ต้นปี พุทธศักราช 2512 ดังนั้น
ในภาคต้นของปีพุทธศักราช 2512 ทางโรงเรียนจึงแก้ปัญหาโดยการสร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้นที่โรงเรียนเก่าและดัดแปลงห้องต่างๆ
เพื่อรับสถานการณ์ให้บริหารงานในภาคต้นดำเนินไปได้และจากการเริ่มรับนักเรียนชายทางจังหวัดกาญจนบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร
นอกเหนือจากจังหวัดนครปฐมเป็นปีแรกจึงจำเป็นต้องจัดหอพักให้จึงนับว่าเป็นครั้งแรกที่มีนักเรียนชายอยู่ประจำในหอพักของ
โรงเรียนฝึกหัดครูนครปฐมแห่งนี้เมื่อทางโรงเรียนขยายการรับนักเรียนเพิ่มขึ้นจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงห้องสมุดและห้องวิทยาศาสตร์
เพื่อรับการขยายของนักเรียนโรงเรียนได้งบประมาณในการจัดหาคุรุภัณฑ์ห้องสมุดและวิทยาศาสตร์เป็นเงิน100,000บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)
ซึ่งทำให้สามารถจัดห้องสมุดและวิทยาศาสตร์ ได้โดยสะดวกตามสมควรโครงการปรับปรุงโรงเรียนนั้นแยกได้ ดังนี้








  1. ด้านอาคารสถานที่ ปรับปรุงพื้นที่ อาคารเรียนต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อม สำหรับการขยายการรับนักเรียน
  2. ปรับปรุงการบริหารโดยแบ่งงานออกเป็นฝ่ายและหมวดต่างๆ
    เพื่อกระจายอำนาจในการบริหารเปิดโอกาสให้ครู-อาจารย์ได้ใช้ความรู้ ความสามารถของตนเองในการดำเนินงานได้เต็มที่
  3. ด้านวิชาการ ได้แบ่งความรับผิดชอบออกเป็นหมวดวิชาต่าง ๆ
    ทำงานประสานกันกับฝ่ายวิชาการส่งเสริมงานของหมวดเสมอกัน
    จัดให้มีการประชุมปรึกษาโดยสม่ำเสมอ ทำให้การแก้ปัญหาการเรียน
    สำหรับนักเรียนจำนวนมากได้คล่องตัวขึ้น นอกจากนั้น ยังได้ปรับปรุงงานด้านห้องสมุด ซึ่งถือเป็นหัวใจของฝ่ายวิชาการให้มีประสิทธิภาพ และกำลังการบริการให้เพียงพออีกด้วยทางโรงเรียนได้ให้
    ความช่วยเหลือนักเรียนในด้านวิชาการ และความประพฤติโดยจัดให้มีอาจารย์ที่ปรึกษา วิชาการแก่นักเรียน โดยจัดให้อาจารย์ 1 คน ต่อนักเรียนในที่ปรึกษา 25 คน มีการพบปะระหว่างอาจารย์กับนักเรียนประจำทุกสัปดาห์
  4. การจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร จัดขึ้นเพื่อเสริมความสามารถ
    ของนักเรียนในด้านต่างๆ เช่น จัดการแข่งขันกีฬาสี สภานักเรียน ชุมนุมต่าง ๆ และ กิจกรรมเนื่องในวันสำคัญต่างๆ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมด้านนี้จะทำให้นักเรียน มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาชีวิตมากขึ้น
  5. การพัฒนาได้ใช้แรงงานนักเรียน เช่น ในการปรับปรุงกิจการของ โรงเรียนในด้านต่างๆ เนื่องจากโรงเรียนเติบโตและขยายตัว
    อย่างรวดเร็ว จึงทำให้มีช่องว่างในงานบริหารมาก กำลังคนงานภารโรงมีไม่เพียงพอ จึงได้อาศัยนักเรียนรับผิดชอบทำความสะอาดห้องเรียน พัฒนาโรงเรียนช่วยรับผิดชอบเกี่ยวกับการให้บริการสำหรับการรับประทานอาหาร
  6. การฝึกสอน เพื่อให้ประสบการณ์ทางการสอนแก่นักเรียน จึงได้จัดให้
    มีการฝึกสอนทั้งชนบทและในเมือง ในปีการศึกษา 2512 นี้ ได้จัดให้
    มีการฝึกสอนในชนบท 2 แห่ง


ตามที่เคยปฏิบัติมาก่อน คือ หน่วยวัดไร่ขิงและหน่วยวัดสามง่าม
โดยเฉพาะหน่วยวัดไร่ขิงนั้นได้เปิดสอนชั้นเด็กเล็กขึ้น 1 ห้อง และ
จะดำเนินการเปิดขึ้นที่หน่วยวัดสามง่ามในปีต่อมาส่วนทางด้านใน
เขตอำเภอเมืองในภาคเรียนนั้นได้ส่งนักเรียนออกฝึกสอนมากถึง
174 คน เป็นนักเรียน ป.ป. 160 คนป.กศ. 14 คน ส่งออกฝึกสอนใน เขตอำเภอเมือง 12 โรงเรียน มีคณะอาจารย์นิเทศ 6 คน และในปีต่อมา ได้ขยายการฝึกสอนในโครงการชนบทมากขึ้นด้วย และทำให้มีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นตามลำดับ




โรงเรียนฝึกหัดครูนครปฐมยกฐานะเป็น
16
วิทยาลัยครูนครปฐม
มกราคม พุทธศักราช 2513
โรงเรียนฝึกหัดครูยกฐานะเป็นวิทยาลัยครูนครปฐม และถือเป็นการสถาปนาวิทยาลัยครูนครปฐมด้วย และที่สำคัญในวันนี้เอง
ท่านพระเทพวรเวทีได้กรุณาให้คำขวัญซึ่งถือเป็นคติประจำ
วิทยาลัยครูนครปฐมว่า “ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต แปลว่าปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก” วิทยาลัยครูนครปฐมได้จัดการเรียนการสอน
โดยมุ่งเน้นการผลิตครูระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง
(ป.กศ. สูง) หน่วยงานวิทยาศาสตร์ขณะนั้นมีฐานะเป็นหมวดวิชา จำนวน 6 หมวด ได้แก่ หมวดวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ คหกรรมศาสตร์เกษตรศาสตร์ พลานามัย และพลศึกษา


วิทยาลัยครูนครปฐมมีการดำเนินงานโครงการพิเศษดังนี้
1. โครงการฝึกหัดครูชนบทวิทยาลัยครูนครปฐมได้เข้าร่วม ในโครงการฝึกหัดครูชนบทมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2504 ซึ่งโครงการนี้แต่เดิม
ได้รับความร่วมมือจากองค์การยูเนสโก (UNESCO)
ในช่วงปี 2513 – 2514 ได้รับความช่วยเหลือ จากองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ดังนั้นในช่วงปี 2513 วิทยาลัยฯ ได้จัดส่งนักศึกษา
ระดับ ป.กศ. เข้าร่วมโครงการโดยส่งไปฝึกสอน ในชนบท
ตามหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่เดิม 2 หน่วย ก็เพิ่มเป็น 8 หน่วย
อยู่ในจังหวัดนครปฐม 7 หน่วย จังหวัดราชบุรี 1 หน่วย
ในปีพุทธศักราช 2514 ได้ส่งนักศึกษา ป.กศ. ชั้นปีที่ 2 ผลัดเปลี่ยน
ไปฝึกสอนลำเนินการตามโครงการนี้ 13 หน่วย
เฉพาะในจังหวัดนครปฐม ดังนี้ คือ

  1. อำเภอสามพราน             2            หน่วย
  2. อำเภอเมืองนครปฐม        2            หน่วย
  3. อำเภอดอนตูม                2            หน่วย
  4. อำเภอกำแพงแสน           6            หน่วย
  5. อำเภอบางเลน                1            หน่วย


2. โครงการฝึกสอนสำหรับนักศึกษาระดับประโยคครูประถม นักศึกษาระดับ ป.ป. เรียนภาควิชาการ
2 ภาคเรียน และจะต้องฝึกสอน 1 ภาคเรียน (ภาคปลาย) วิทยาลัยได้จัดส่งนักศึกษาเหล่านี้ ไปฝึกสอนในโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัด และโรงเรียนเทศบาล ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ถนน การคมนาคมสะดวก เพื่อให้ไปเช้า-เย็นกลับเนื่องจากหลักสูตรนี้มุ่งเน้นให้ ผลิตครูเพื่อสอนระดับประถมศึกษาในปีพุทธศักราช 2514 ได้จัดส่งนักศึกษาไปฝึกสอนในโรงเรียน ระดับประถมศึกษา
ในเขตอำเภอเมือง รวม 12 หน่วย
3. โครงการฝึกสอนระดับมัธยมศึกษาและประถมศึกษาตอนปลายของนักศึกษา ป.กศ. ชั้นสูง
วิทยาลัยครูนครปฐมได้จัดส่งนักศึกษาระดับ ป.กศ. ชั้นสูงออกไปฝึกสอนตามโรงเรียนต่าง ๆ
ที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและประถมศึกษาตอนปลายเป็นครั้งแรกในปี 2514 ในปีแรกนี้
ส่งออกไปฝึกสอน 8 หน่วย เป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้ตัวเมือง ของอำเภอเมืองนครปฐม โดยทำการฝึกสอน 1 ภาคเรียน (3 เดือน)

ประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู

ในปีพุทธศักราช 2518 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พุทธศักราช 2518 ทำให้วิทยาลัยครูเป็นสถาบันการศึกษา และการวิจัย มีวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษาวิชาการและผลิตครูถึงระดับปริญญาตรี ทำการวิจัยส่งเสริมอาชีพและวิทยฐานะครูอาจารย์และเจ้าหน้าที่ ผู้บริหารการศึกษา ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และให้บริการทางวิชาการ แก่สังคม และให้วิทยาลัยครูเป็นส่วนราชการในกรมการฝึกหัดครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการและได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะสถาบันฝึกหัดครู
เป็นวิทยาลัยครูตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครูพุทธศักราช 2518
จำนวน 17 แห่ง พุทธศักราช 2519 จำนวน 12 แห่ง และ
ในปีพุทธศักราช 2520 จำนวน 7 แห่ง รวมทั้งสิ้น 36 แห่ง ในส่วนของ
วิทยาลัยครูนครปฐมได้รับการยกฐานะจากสถาบันฝึกหัดครูเป็น
วิทยาลัยครูนครปฐม ในปีพุทธศักราช 2518 ส่งผลให้สามารถ
ผลิตนักเรียนระดับสูงขึ้นถึงระดับชั้น ป.กศ.สูง ถือเป็นเกียรติอย่างสูง
ของโรงเรียนนี้และจังหวัดนครปฐม ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ในครั้งนี้ ย่อมนับได้ว่าเกิดจาก

1.
การสนับสนุนอย่างจริงจังของกรมการฝึกหัดครูซึ่งมี
ท่านอธิบดีกรมการฝึกหัดครู (นายบุญถิ่น อัตถากร)
เป็นประธาน ดำเนินการจัดเรื่องงบประมาณต่าง ๆ
ตามความจำเป็นและ ทันต่อเหตุการณ์มาตลอด
2.
การสนับสนุนอย่างจริงจังและเข้าใจถึงประโยชน์อันไพศาลของการศึกษาของชาวจังหวัดนครปฐมอันประกอบด้วยข้าราชการพ่อค้าประชาชนทั้งหลายซึ่งมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมเป็นประธานนับเนื่องจากอดีตท่านผู้ว่าราชการจังหวัด คุณพล วงศาโรจน์เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการ
ในการจัดหาที่ดินแห่งนี้และท่านผู้ว่าราชการจังหวัด
คนปัจจุบันคือ คุณดำรง สุนทรศารทูลก็เป็นผู้สานงาน
ต่อเนื่องโดยสนับสนุนในทุกด้านแม้กระทั่งด้านแผ้วถาง
และปรุงแต่งให้ที่ดินผืนนี้ มีคุณค่าและประโยชน์ทันตาเห็น
3.
การสนับสนุนจากทางวัดและคณะสงฆ์ของจังหวัดนครปฐม
4.
งานต่อเนื่องที่ผู้บริหารงานโรงเรียนนี้ได้ดำเนินติดต่อกัน
มาโดยลำดับ
5.
การร่วมมืออย่างมิเห็นแก่เหน็ดเหนื่อยของคณะครูอาจารย์ คนงานภารโรงและนักเรียนของโรงเรียนฝึกหัดครูนครปฐม ทุกคนที่บากบั่นอดทนต่องานหนักและยืนหยัดต่ออุปสรรค รอบด้าน จนทำให้โรงเรียนนี้เจริญมาถึงขั้นที่ทางกระทรวง ศึกษาธิการเห็นสมควรให้สถาปนาขึ้นเป็น
วิทยาลัยครูนครปฐม
(คำกล่าวรายงานของอาจารย์ใหญ่เนื่องใน
วันสถาปนาวิทยาลัยครูนครปฐม 16 มกราคม 2513)

การบริหารงานวิชาการ

หลังจาก พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู ปีพุทธศักราช 2518 ได้ประกาศใช้ ทำให้สถานภาพของวิทยาลัยครูปรับเปลี่ยนไปจากเดิม คือ สามารถ
เปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี การบริหารงานวิชาการในช่วงนี้ ได้จัดให้
มีการบริหารงานภายในเป็น “คณะวิชา” มี 3 คณะวิชา ได้แก่
คณะวิชาครุศาสตร์ คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์และคณะวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาลัยครูนครปฐมขณะนั้น ประกอบด้วยภาควิชาต่าง ๆ ได้แก่ ภาควิชาเกษตรศาสตร์ ภาควิชาเคมี
ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา ภาควิชาชีววิทยา ภาควิชาพลศึกษา ภาควิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ทั่วไปภาควิชาสุขศึกษา และภาควิชาหัตถศึกษาอุตสาหกรรมศิลป์ ในระยะต่อมาหน่วยงานผู้ใช้ครู ได้รับครูเข้าทำงานน้อยลงกรมการฝึกหัดครูจึงต้องผลิตครูน้อยลงไปด้วย
ทั้งที่กรมการฝึกหัดครูมีทรัพยากรที่มีคุณค่าอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น
ในปีพุทธศักราช 2527 กรมการฝึกหัดครูจึงได้เสนอแก้พระราชบัญญัติ วิทยาลัยครู พุทธศักราช 2518 ให้วิทยาลัยครูเปิดสอนสาขาวิชาการ
อื่นได้นอกจากสาขาวิชาชีพครู

ดังนั้นในปลายปีพุทธศักราช 2527 จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม
พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พุทธศักราช 2518 มีการเปลี่ยนแปลง
บางมาตราให้วิทยาลัยมีความสมบูรณ์และปฏิบัติภารกิจสนองความต้องการของสังคมได้กว้างขวางขึ้น สาระสำคัญ ของความเปลี่ยนแปลงลักษณะหนึ่งในมาตรา 5 ให้วิทยาลัยครู จัดการศึกษาในสาขาวิชาการต่าง ๆ
นอกเหนือจากการผลิตครูได้ด้วย
ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2527 มาตรา 5 ให้วิทยาลัยครูเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยมีวัตถุประสงค์ ให้บริการวิชาการในสาขาวิชาต่างๆตามความต้องการของท้องถิ่น และผลิตครู
ถึงระดับปริญญาตรี ทำการวิจัยส่งเสริมวิทยฐานะครูอาจารย์ และบุคลากร
ทางการศึกษา ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและให้บริการ ทางวิชาการแก่สังคม

ในปีพุทธศักราช 2528 สภาการฝึกหัดครูได้ออกข้อบังคับ
ว่าด้วยกลุ่มวิทยาลัยครู พุทธศักราช 2528 ส่งผลให้
กลุ่มวิทยาลัยครูพัฒนาไปเป็นสหวิทยาลัย จำนวน
8 สหวิทยาลัย คือ สหวิทยาลัยล้านนา สหวิทยาลัยพุทธชินราช สหวิทยาลัยอีสาน-เหนือ สหวิทยาลัยอีสาน - ใต้สหวิทยาลัยศรีอยุธยา สหวิทยาลัยทวารวดี สหวิทยาลัยทักษิณ
และสหวิทยาลัยรัตนโกสินทร์
ในส่วนของวิทยาลัยครูนครปฐม อยู่ในสหวิทยาลัยทวารวดี ประกอบด้วยวิทยาลัยครูเพชรบุรี วิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึง วิทยาลัยครูนครปฐม และวิทยาลัยครูกาญจนบุรีและในปีเดียว กันนี้ วิทยาลัยครูนครปฐมก็ได้มีคณะวิชาใหม่ขึ้นอย่างเป็น
ทางการอีก 1 คณะวิชา คือคณะวิชาวิทยาการจัดการ


  1. ด้านการจัดการศึกษา
  2. ด้านการผลิตและพัฒนาวิชาชีพครู
  3. ด้านการวิจัย
  4. ด้านการบริการวิชาการแก่สังคม
  5. ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
บทบาทของวิทยาลัยครู
กรมการฝึกหัดครูมุ่งเน้นให้วิทยาลัยครูเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีปัญญา คุณธรรม มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์
มีความสามารถในการประกอบอาชีพและพึ่งตนเองได้ ตลอดจนสามารดำรงชีวิต และปรับตัวให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และมุ่งเน้นการกระจายโอกาสทางการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ ไปสู่ผู้ด้อยโอกาส
ให้มากขึ้น ทั้งนี้ โดยการพัฒนาวิทยาลัยครูให้มีศักยภาพ ความพร้อมความ
คล่องตัวในการปฏิบัติภารกิจทั้งด้านการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ให้เอื้อประโยชน์
ต่อการพัฒนาท้องถิ่นเป็นหลัก นโยบายของภารกิจแต่ละด้านมีดังนี้

หลักสูตรและสาขาวิชา

หลักสูตร วิทยาลัยครูมีหลักสูตรที่จัดการศึกษา 3 หลักสูตรด้วยกันคือ
  1. หลักสูตรอนุปริญญา เป็นหลักสูตรที่จัดการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี
    ใช้เวลาเรียน 2 ปี ตัวป้อนคือ ผู้จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือระดับ ปวช.
  2. หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี เป็นหลักสูตรที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรี
    ใช้เวลาเรียน 4 ปี ตัวป้อน คือผู้จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ระดับ ปวช.
  3. หลักสูตรปริญญาตรี 2 ปี เป็นหลักสูตรที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรี
    ใช้เวลาเรียน 2 ปี ตัวป้อนคือผู้จบการศึกษาระดับอนุปริญญา ระดับ ปวท.
    หรือระดับ ปวส.


สาขาวิชา การจัดการศึกษาของวิทยาลัยครูนั้น คำนึงถึงความต้องการของประเทศโดยส่วนรวม ก่อนปีการศึกษา 2528 วิทยาลัยครูผลิตนักศึกษาเพียงสาขาเดียวแต่ด้วยเหตุที่อัตราการเพิ่มของ ประชากรลดลงทำให้ความต้องการครูลดลงวิทยาลัยครูจึงจำเป็นต้องลด การผลิตครูลงไปด้วยเพื่อมิให้เกิดปัญหาการว่างงานแก่ผู้สำเร็จการศึกษาวิชาชีพครูจากวิทยาลัยครูการลดจำนวนการรับนักศึกษา มีผลกระทบต่อประชาชนในท้องถิ่น เพราะประชาชนในท้องถิ่นยังมีความต้องการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอีกทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองมีความพอใจที่จะให้บุตรหลานของตนเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยครูทำให้วิทยาลัยครูต้องหาทางแก้ไขปัญหาความต้องการเรียนของประชาชนในท้องถิ่นหลังจากมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิทยาลัยครูพุทธศักราช 2518 ซึ่งกำหนดให้วิทยาลัยครูผลิตครูได้เพียงอย่างเดียว
เป็นพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่2) พุทธศักราช 2527 โดยเอื้อให้วิทยาลัยครูผลิตผู้มีความรู้ ในสาขาวิชาการต่าง ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานได้
นอกเหนือจากการผลิตครู ดังนั้น นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2528 เป็นต้นมา
วิทยาลัยครูนครปฐม จึงเปิดสอนใน 3 สาขาวิชาด้วยกัน คือ สาขาวิชาการศึกษา สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ และสาขาวิชาศิลปศาสตร์







จุดเน้นองค์กรที่รับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอน ตลอดจน
จำนวนโปรแกรมวิชา (วิชาเอก) ของแต่ละสาขาวิชา มีดังต่อไปนี้
สาขาวิชาการศึกษา หมายถึงสาขาวิชาที่วิทยาลัยครูเปิดสอน
เพื่อฝึกฝนให้นักศึกษาไปประกอบวิชาชีพครู องค์กรที่ทำหน้าที่
รับผิดชอบ คือ คณะวิชาครุศาสตร์
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ หมายถึงสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์
ที่วิทยาลัยครูเปิดสอนเพื่อฝึกฝน ให้นักศึกษาไปประกอบอาชีพ
ในสาขาวิทยาศาสตร์ โดยไม่ต้องเป็นครู องค์กรที่รับผิดชอบ คือ
คณะวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สาขาวิชาศิลปศาสตร์ หมายถึงสาขาวิชาทางศิลปศาสตร์
ที่วิทยาลัยครูเปิดสอน เพื่อฝึกฝนให้นักศึกษาไปประกอบอาชีพ
ในสาขาศิลปศาสตร์ โดยไม่ต้องเป็นครู องค์กรที่รับผิดชอบ คือ
คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะวิชาวิทยาการจัดการ


สถาบันราชภัฏนครปฐม
“ วิทยาลัยครู ”
ในช่วงที่ 3 นี้ ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชื่อของวิทยาลัยครู เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ (2544) กล่าวไว้ว่า จากหน้าที่ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2527 ที่กำหนดให้วิทยาลัยครูจัดการศึกษาในสาขาวิชาการต่าง ๆ ตามความต้องการของท้องถิ่น ยังผลให้วิทยาลัยครูได้เพิ่มบทบาทจากการ จัดการศึกษาในสาขาวิชาชีพครูเพียงสาขาเดียวเป็นการจัดการศึกษาใน สาขาวิชาการอื่นด้วย
คือ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และสาขาวิชาศิลปศาสตร์ วิทยาลัยครูได้เริ่มำเนินการจัดการศึกษาครบทั้งสามสาขาวิชา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2528 ในแต่ละสาขาวิชา
จะผลิตกำลังคนทั้งระดับอนุปริญญาและระดับปริญญาตรี โดยมีโปรแกรมวิชาต่าง ๆ ที่สนองตอบต่อความต้องการของท้องถิ่นวิทยาลัยครู ได้จัดการศึกษาสาขาวิชาอื่นนอกเหนือจากสาขาวิชาชีพครูมาเป็นเวลา 7 ปี ชื่อของวิทยาลัยครู
ยังมิได้เปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับบทบาทใหม่ที่เพิ่มขึ้นใน
พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2527 การที่ชื่อของวิทยาลัยครู ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขย่อมก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ ที่สำคัญ ๆ คือ

  1. ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และสาขาวิชาศิลปศาสตร์ ประสบปัญหาในการสมัครงานเนื่องจากหน่วยงานส่วนใหญ่
    ที่รับสมัครงานไม่ทราบว่า ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยครู มีทั้งผู้ที่ได้รับคุณวุฒิด้านครุศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และศิลปศาสตร์
    โดยยังเข้าใจว่า ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยครู จะต้องได้รับคุณวุฒิด้านครุศาสตร์เท่านั้น
  2. การดำเนินโครงการขอความร่วมมือจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนในสองสาขาวิชากล่าวคือวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์
    กรมการฝึกหัดครูพบว่าการขอความร่วมมือมักจะต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการชี้แจงทำความเข้าใจกับประเทศที่จะขอความร่วมมือว่า “วิทยาลัยครู” (Teacher College) จัดการศึกษาในสาขาวิชาการอื่นด้วย และในการอธิบายชี้แจงดังกล่าว บางครั้งต้องมีหนังสือ
    โต้ตอบไป-มาหลายครั้ง ทำให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นอย่างน่าเสียดาย
  3. ด้านบทบาทการบริการวิชาการแก่สังคมของวิทยาลัยครู กล่าวคือ “วิทยาลัยครู” ทำให้ประชาชนภายนอกมองบทบาทของวิทยาลัยครูจำกัด อยู่พียงแค่เรื่องของวิชาการศึกษาเท่านั้นการบริการวิชาการแกสังคมในสาขาวิชาการอื่น ๆ จึงยังไม่กว้างขวางเท่าที่ควร ทั้งๆที่ท้องถิ่น
    มีความต้องการ การฝึกอบรมหรือคำปรึกษาแนะนำต่าง ๆในวิชาการเหล่านั้นและวิทยาลัยครูก็มีอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษา
    ในสาขาวิชานั้น ๆ ด้วย แต่เป็นเพราะ ชื่อจึงทำให้ท้องถิ่นไม่ได้ใช้บริการวิชาการเท่าที่ควร




ในประเด็นของการเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อของวิทยาลัยครูนี้ แม้จะมีบางทัศนะเห็นว่า การยังคงใช้ชื่อ
ว่า “วิทยาลัยครู” เหมือนเดิม แต่เพิ่มบทบาทขึ้นใหม่เป็นเรื่องที่น่าจะเป็นไปได้ เพราะในปัจจุบัน
ยังมีมหาวิทยาลัยบางแห่ง คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่ชื่อของมหาวิทยาลัยดูเหมือนจะไม่ครอบคลุมสาขาวิชาที่เปิดสอนแต่ก็ยังใช้ได้เพราะ
ถือว่าเป็นชื่อเฉพาะนั้น หากพิจารณาให้ถ่องแท้ก็จะเห็นได้ว่า ชื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถใช้เป็นชื่อเฉพาะได้เพราะต่างก็มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและชื่อของมหาวิทยาลัยทั้ง สองแห่งนี้ในภาคภาษาอังกฤษก็ใช้คำทับศัพท์มิได้แปลชื่อแต่ประการใด
ส่วนคำว่า “วิทยาลัยครู” นั้น มีสถานศึกษาใช้ร่วมกันทั่วประเทศถึง 36 แห่ง ไม่อาจใช้เป็น
ชื่อเฉพาะได้ และด้วยเหตุที่ชื่อนี้เป็น ชื่อสามัญชื่อในภาคภาษาอังกฤษจึงเป็นชื่อที่แปลให้ได้ความหมายตรงกับชื่อในภาคภาษาไทย เพื่อให้ผู้ที่พบเห็นชื่อสามารถสื่อความเกี่ยวกับหน้าที่ของสถานศึกษา
ว่าเป็นสถานศึกษาที่มีหน้าที่ผลิตครูและฝึกอบรมครูซึ่งสอดคล้องอย่างยิ่งกับบทบาทดั้งเดิมของวิทยาลัยครูและด้วยเหตุผลเดียวกัน ชื่อ “วิทยาลัยครู” (Teacher College) จึงไม่เหมาะสม
กับบทบาทที่เพิ่มขึ้นของวิทยาลัยครูในกาลต่อมา

กล่าวโดยสรุป
การเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อของวิทยาลัยครูให้สอดคล้องกับภาระหน้าที่ในพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู
(ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2527 น่าจะก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศโดยส่วนรวมมากกว่าผลเสีย



สถาบันราชภัฏ : นามพระราชทาน

เพื่อให้ปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขกระทรวงศึกษาธิการจึงได้มีหนังสือถึง
ราชเลขาธิการให้นำความ กราบบังคมทูล พระกรุณาถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
แก่บัณฑิตของวิทยาลัครู และขอพระราชทานชื่อวิทยาลัยครูทั้ง 36 แห่งว่า “สถาบันราชพัฒนา” หรือชื่ออื่นใดสุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขณะนั้น มีดร.นิเชต สุนทรพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการฝึกหัดครูซึ่งราชเลขาธิการ ในพระองค์ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว และได้แจ้งมายังกระทรวงศึกษาธิการ ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ
ที่ รล 0003/2522ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 ว่า
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อสถาบัน ว่า “สถาบันราชภัฏ” และตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการที่ รล 0003/5536
ลงวันที่ 9 เมษายน 2535 สำนักราชเลขาธิการได้แจ้งความหมายของชื่อ “ราชภัฏ” ว่า คือ “ปราชญ์ของพระราชา”และให้เขียนชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “RAJABHAT”

นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
(รัชกาลที่ 9) ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชลัญจกรส่วนพระองค์ให้เป็นตราของสถาบันราชภัฏอีกด้วยทั้งนามและตราสัญลักษณ์พระราชทานนี้ยังความปลื้มปิติยินดีเป็นล้นพ้นให้เกิดแก่
พสกนิกรชาวราชภัฏดวงใจของทุกคนล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
อันหาที่สุดมิได้แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) นับแล้วเป็นเวลา 100 ปีพอดีที่สถาบันการฝึกหัดครู
ได้ปรับเปลี่ยนชื่อและสถานภาพจากโรงเรียนผลิตครูมาเป็นโรงเรียน
ผลิตบัณฑิตในฐานะสถาบันอุดมศึกษาของชาติที่มีเครือข่ายมากที่สุด
ในประเทศไทย

อนึ่ง
สัญลักษณ์ประจำสถาบันราชภัฏเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ของ พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ซึ่งสัญลักษณ์ ประจำสถาบันนี้ มิควรนำไปดัดแปลง ตัด เพิ่มข้อความหรือสิ่งอื่นใด ลงในราชภัฏสัญลักษณ์ เพื่อทรงไว้ซึ่งความหมายอันเป็น
มหาสิริมงคลและพระมหากรุณาธิคุณยิ่งที่พระองค์ได้พระราชทาน
แด่สถาบันราชภัฏทั้งปวง



พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ
ความเป็น “สถาบันราชภัฏ” เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535
โดยได้รับพระราชทานชื่ออันเป็นมหามงคลนาม แปลว่า “ปราชญ์ของพระราชา”
25 มกราคม 2538
ประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ
พุทธศักราช 2538
6 มีนาคม 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทาน “พระราชลัญจกร” คือตราที่ใช้ประทับเอกสารส่วนพระองค์ให้เป็น
ตราสัญลักษณ์ของสถาบันราชภัฏ และสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏเมื่อสถาบันราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษา สามารถประสิทธิ์ประสาทวิชาการหลากหลาย ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป จึงต้องมีครุย วิทยฐานะไว้รองรับครุยของสถาบันราชภัฏเป็นครุยไทยตัวเสื้อครุย ทำด้วยผ้าหรือแพรสีดำเย็บเป็นเสื้อคลุม ตัวเสื้อผ่าอกตลอดแขนเสื้อ กว้างและยาวตกข้อมือ ปลายแขนปล่อยมีสำรดรอบขอบและ
ที่ปลายแขน สำรด
ต้นแขนแสดงถึงระดับปริญญา และมีเข็มตราสถาบันราชภัฏประดับครุย พร้อมแถบสีอีก 3 สี คือ สีทอง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง
สีเขียว หมายถึง สถาบันราชภัฏที่มุ่งให้การศึกษาพัฒนาท้องถิ่น
สีน้ำเงิน หมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีคุณูปการ
อันยิ่งใหญ่ไพศาลต่อสถาบันราชภัฏ และมีแถบสีประจำการสาขาวิชา คือ
แถบสีฟ้า คือ บัณฑิตสาขาวิชาครุศาสตร์ แถบสีแสด คือ บัณฑิตสาขาวิชาศิลปะศาสตร์ แถบสีเหลือง คือ บัณฑิตสาขาวิชา
วิทยาศาสตร์ และ แถบสีชมพู คือ บัณฑิตสาขาวิชาวิทยาการจัดการ




มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระปรมินทร
มหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9)
ทรงลงพระปรมาภิไธย
พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 และประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่
14 มิถุนายน พ.ศ. 2547
ส่งผลให้สถาบันราชภัฏทั่วประเทศ

โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอนวิจัยให้บริการทาง วิชาการแก่สังคม ปรับปรุงถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู”และกำหนดให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมีสภามหาวิทยาลัย
ตามมาตรา 16 กำหนดอำนาจและหน้าที่ในการควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย
ตามมาตรา 18 นอกจากนั้น ยังมีสภาวิชาการสภาคณาจารย์และข้าราชการและคณะกรรมการ
ส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยตลอดจนการแบ่งส่วนราชการ และผู้บริหารของมหาวิทยาลัยราชภัฏ สถาบันราชภัฏนครปฐมจึงได้รับการยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมในปี พ.ศ. 2547 ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547
ได้รับการยกฐานะและปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 เป็นต้นมามหาวิทยาลัยราชภัฏมีภารกิจและปณิธานตามพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 โดยมาตรา 7 กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาของท้องถิ่น สร้างสรรค์ศิลปวิทยาเพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง และยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมใน
การจัดการ การบำรุงรักษา การใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน




เพลงประจำ
มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม

ธรรมจักรบิ่น

 
ธรรมจักรบิ่น คือดวงใจ
ชาติศาสน์กษัตริย์ขอเชิญชู
ยอมพลีเพื่อเยาวชนไทย
รวมพลังยืนหยัดฝ่าฟัน
มาลัยแมนแดนน้องพี่
ปิ่นเกลียวเลื่องลือไกล
น้อมนำความเจริญทุกฐานถิ่น
แดงชมพูคู่เคียงฟ้า
ชีวิตไซร้แดงชมพู
สถาบันคงอยู่คู่แผ่นดินนาน
ถิ่นแดนใดไกลแสนไกลไม่ไหวหวั่น
พร้อมใจยึดมั่นสร้างสรรค์ชาติไทย
สามัคคีร่วมน้ำใจ
อยู่แห่งใดข้าขอบูชา
ธรรมจักรบิ่นธำรงไว้ทหารกล้า
พัฒนาการศึกษาให้รุ่งเรือง

สมชาย มังคละ
ประพันธ์คำร้อง-ทำนอง

สาวเฟื่องฟ้า

 
งามกระไรหนอเอย
โฉมกานดาหยาดมาจากฟ้าหรือไร
เฉิดฉันผ่องอันอำไพ
ยามพี่มองน้องเมิน
เพ้อรำพันเฝ้าใฝ่ฝัน
แดงชมพูชูช่อ
เจ้าเป็นยอดจอมใจ
ทรามเชยสาวชาวเฟื่องฟ้า
งามแสนงามลาวัณย์
เทพยดาองค์ใดหนอปั้นให้นางสคราญ
งามเกินกว่าสาวอื่นปาน
สู่นางมิคลาย
กิ่งก้านกอพราวพร่างไสว
คู่วิทยาลัยตราบนิจนิรันดร์

สมชาย มังคละ
ประพันธ์คำร้อง-ทำนอง

ชมพูแดง

 
เฟื่องฟ้าแดงชมพู
รอบรั้ววิทยาลัย
สร้างสรรค์ปวงเรามา
สุดซาบซึ้งสถาบัน
ตัวไกลหัวใจยังอยู่
มาลัยแมนดั่งสวรรค์แสนอาลัย
เฟื่องฟ้าเอยลาก่อน
เฟื่องฟ้าเมื่อโรยลา
เด่นงามหรูชื่นใจ
เครื่องหมายแห่งความสัมพันธ์
ได้ศึกษาทั่วกัน
จิตใจคงมั่นไม่คลาย
แดงชมพูมิลืมเลือนได้
ปิ่นเกลียวฝากไว้ใจบูชา
สุดบั่นทอนวิญญา
โอ้ชีวาข้าอาดูร

สมชาย มังคละ
ประพันธ์คำร้อง-ทำนอง

เฟื่องฟ้าอาลัย

 
โอ้เฟื่องฟ้าเอย
สุดแสนห่วงหาอาลัย
โอ้เฟื่องฟ้าเอย
เฝ้าภวังค์ถึงความหลังชื่นชม
หูกวางเจ้าเอยเคยฝังจิตยามชิดใกล้
ทิวสนโอนเอนไปมา
ต้องจำใจขอลา ขอลา
แดงชมพูเสมือนดังชีวัน
จากกันขอโชคดี
สุขสราญเหมือนดอกไม้บานชื่นเชย
ก่อนเคยรื่นรมย์ฤทัย
จำพรากจากไกลใจระทม
เพิ่งเคยหลั่งน้ำตาตรม
ยอกย้อนอารมณ์ชมชื่นชีวา
ใต้ร่มไทรเยือกเย็นอุรา
อีกเมื่อใดหนาหวลคืนสุขสันต์
ไม่นานคงพบกัน
ฝากใจเฝ้าฝัน ไม่มีวันลืมเลย
อย่ามีความทุกข์นะเจ้าเอย
อย่าลืมที่เคยสัญญารักมั่นดวงใจ

สมชาย มังคละ
ประพันธ์คำร้อง-ทำนอง

มาร์ชชมพู-แดง

 
ชมพูแดงคงอยู่คู่ฟ้าแลดิน
เราภูมิใจมั่นในเกียรติสถาบันทวี
ชมพูนั้นคือจิตมั่นรักภักดี
นักศึกษาอาจารย์อยู่ร่วมกันทุกวันมา
วิทยาลัยครูนครปฐม
ทั้งเรียนดีกีฬาเด่นเน้นคุณธรรม์
นครปฐมคงอยู่ชั่วนิรันดร์
ทั้งเรียนเล่นเราแน่ไม่แพ้ใคร
แหล่งรวมจินต์ร่วมรักร่วมสามัคคี
ชีวิตพลีเพื่อชาติให้พัฒนา
แดงคือสีเราแกร่งแข็งวิทยา
อุ่นอุราใต้ครอบฟ้าเดียวกัน
แหล่งเพาะบ่มวิทยากล้าสร้างสรรค์
พร้อมยึดมันความดีเทิดศรีไทย
เพื่อสร้างสรรค์มวลศิษย์วิทย์เกริกไกร
จารึกไว้เกียรติเลิศหรูชมพูแดง

เนื้อร้อง : สมพร มันตะสูตร
ทำนองเพลง : นิเชต สุนทรพิทักษ์

อำลา อาลัย

 
ลาลาแล้ว หูกวาง ลาเฟื่องฟ้าลาจร
ให้อาวรณ์ครวญหา ทุกนาที
ต้องจากไกล ใจมั่น ผูกสัมพันธ์น้องพี่
ฝากฤดีเคียงข้าง ยามร้างไกล
มองดูปลา ว่ายวน ยามใกล้สนธยา
แลดูฟ้า มืดมิด เหมือนจิตใจ
โอ้เคยกิน เล่นนอน ให้อาวรณ์ฤทัย
จะจากไกล ไหนจะชื่น มาคืนคง
Oh! The autumn wind is a sorry wind
And it seems to cry every day
For the autumn wind is alone some wind
When the bird and flowers go away
Therearenomorebrightyellow butterflies
That days gone by it had known
So it sings a tune such alone some tune
As it goes about all alone

คำร้องเพลงไทย : สมพร มันตะสูตร
ทำนอง : อุดม เพ็ญเพียร

ปิ่นเกลียวสัมพันธ์

 
ปิ่นเกลียวเกลียวใจสายสัมพันธ์
ร่มเงาพุทธศาสนา
เด็กน้อยหลงทางอ้างว้างสับสน
โอ้พระปิ่นเกล้าของเราชาวไทย
ดุจเทียนส่องแสงให้ชาวประชา
ในความมืดมิดของสังคม
วิบวับระยิบระยับวาววามทั่วแดนไทย
ปิ่นเกลียวเกลียวใจชาวราชภัฏ
มวลมิตรเพื่อนผองน้องพี่
ผูกพันรักมั่นนานมา
สร้างค่าสร้างเหล่าเยาวชน
เราคือคนนำทางแห่งวิชา
ราชภัฏพระราชทานไว้แก่การศึกษา
พัฒนาให้รุ่งเรืองทั่วแคว้นแดนไกล
เทียนส่องสู้ลมอย่างไม่หวั่นไหว
ส่องทางให้เห็นเส้นทางชีวี
ร้อยรัดสร้างฝันปันใจไมตรี
ผูกพันถิ่นนี้มิมีลืมเลือน

คำร้อง : ลินจง จันทรวราทิตย์
ขับร้อง : โสมรัศมิ์ เกาวนันท์

เฟื่องฟ้างาม

 
แดนงามอร่ามเฟื่องฟ้า
งามเอยงามดอกไม้
ภูมิใจได้เนาถิ่นนี้
ขอฝากน้องพี่ร่วมฤดีปรองดอง (ซ้ำ)
งามเอยโอ้งามเฟื่องฟ้า
งามใจงามไม่มัวหมอง
งามเอยโอ้งามความคิด
พวกเราน้อมจิตเพื่อสังคมไทย (ซ้ำ)
น้อมจิตคิดเทิดศรีศักดิ์
ฟ้าเฟื่องเฟื่องฟ้าก้าวไกล
ภูมิใจได้มาศึกษา
ขอเหล่าเฟื่องฟ้าสถาพรเอย (ซ้ำ)
ดุจสวรรค์มาจากฟ้าสดใส
โอ้แดนวิไลพาให้เปรมปรีดิ์
จากไกลแต่ใจดวงนี้

งามวิชาคุณค่าสมอง
เพราะธรรมะครองยึดห้องหทัย
ชาญเอยโอ้ชาญเชี่ยววิทย์

ตระหนักความดีล้วนมีวินัย
ขอฝากชื่อไว้ยิ่งใหญ่พัฒนา
เราภูมิใจได้มาศึกษา

คำร้อง : ชำนาญ รอดเหตุภัย
ขับร้อง : โฉมฉาย อรุณฉาน

ราชภัฏรวมใจ

 
(หญิง) ฮาเฮฮา มาร่วมสุขสันต์
เข้ามาเต้นให้สนุก สุขฤทัย
ใจบันเทิงเริงร่าอย่างนี้
น้องและพี่ต่างก็มีสุขทุกครา
(ชาย) พี่จะร้อง น้องเข้ามาเต้น
ราชภัฏนครปฐมถิ่นสวรรค์
ฮาเฮฮา มาร่วมรื่นเริง
ร่วมสนุกสุขกันให้เต็มฤดี
มารวมกันวันรวมน้ำใจ
งามยิ่งใหญ่สายใยความศรัทธา
รวมไมตรีชีวิตชีวา
ขอสัญญาหวังว่าไม่ลืมกัน
ไม่ต้องขู่เข็ญให้เป็นรางวัล
สุดหัวใจใฝ่ฝันวันนี้
มาบันเทิงกันให้เปรมปรีดิ์
สมแล้วที่ได้มาเจอะกัน...

คำร้อง : อโศก สุขสถาพรฤทธิ์
ขับร้อง : เสถียร-ศรีสุดา

ราชภัฏที่รัก

 
โฉมเอยเฟื่องฟ้าโอ้ขวัญใจ
งามติดตาสุดสรรกลั่นวจี
โฉมเอยเฟื่องฟ้าโอ้ขวัญใจ
งามมารยาทงามจิตติดใจเตือน
เฟื่องฟ้าเอยขวัญใจวิไลโฉม
“ราชภัฏ” แดนนี้ที่พักใจ
โฉมเอยเฟื่องฟ้าโอ้ขวัญใจ
ขอฝากจิตไว้กับใจใฝ่สัมพันธ์
โฉมไฉไล เลิศลักษณ์เป็นศักดิ์ศรี
ดวงฤดีมั่นอยู่ไม่รู้ลืม
เกียรติคุณวิไลหาใดเหมือน
อยากเป็นเพื่อนสร้างฝันสัมพันธ์ไกล
ชมพู-แดงประโลมจิตสดใจ
โฉมทรามวัยงามล้ำยิ่งรำพัน
ดวงฤทัยหมายสมัครภักดีขวัญ
มอบแด่ขวัญเฟื่องฟ้าน่ารักเอย...

คำร้อง : อโศก สุขสถาพรฤทธิ์
ขับร้อง : ศรีสุดา-โสมรัศมิ์

สายใจเฟื่องฟ้า

 
สายเอยสายใจเยื่อใยรัก
ชมพู-แดงน้องพี่ไม่มีคลาย
เฟื่องฟ้าแดนดินกลิ่นไอรัก
สายเกลียวรักเป็นโซ่ทองคล้องฤทัย
แม้นจากไกลใจยังมั่นสัมพันธ์จิต
เฟื่องฟ้าบานในหัวใจไม่บิดเบือน
สายเอยสายใจผองแห่งน้องพี่
รำลึกบุญคุณค่าสถาบัน
ผูกจิตภักดิ์กตัญญูไม่รู้หาย
เพราะสืบสายสัมพันธ์เดียวเกลียวหัวใจ
ย้ำสลักผูกพันอันยิ่งใหญ่
คือปิ่นเกลียวแห่งดวงใจไม่รู้เลือน
กระชับมิตรสายใจไม่คล้อยเคลื่อน
คงติดเตือนประทับจิตนิจนิรันดร์
ผูกฤดีสัมพันธ์ใจให้คงมั่น
ถิ่นสร้างขวัญศักดิ์ศรีที่รักเอย...

คำร้อง : ชำนาญ รอดเหตุภัย
ขับร้อง : วิษณุ มหามิตร

ถิ่นสวรรค์ชมพู-แดง

 
ถิ่นที่ศึกษาแห่งนี้
งามพร้อมไปทุกแห่ง
มาลัยแมนแดน...ฝัน
หูกวางเฟื่องฟ้าดูตื่นตา
วัดใหม่ปิ่นเกลียวแห่งนี้
นครปฐมแดนธรรมยิ่งใหญ่
ลูกชมพู-แดง ใกล้-ไกล
มิตรร่วมสัมพันธ์ทุกคนจำมั่น
แดนฤดีชมพู-แดง
เข้มแข็งไปด้วยภูมิปัญญา
สุขสันต์เมื่อยามศึกษา
ซาบซึ้งตรึงใจ
อุปการะที่วิทยาลัย
เราต่างภูมิใจในสถาบัน
อยู่ที่ใดไม่ลืมกัน
ถิ่นสวรรค์ชมพู-แดง

ขับร้อง : พรพรรณ เอี่ยมวุฒิ
วงดนตรี : สังคีตสัมพันธ์

ขวัญฤดีชมพู-แดง

 
ที่ศึกษาให้คุณชีวีสร้างน้องพี่
นักศึกษาเรียนด้วยความตั้งใจ
ภาคภูมิในปัญญา
จึงต้องอดทนหมั่นรำเรียนศึกษา
ความสามารถทางวิชาการเด่นดี
ขวัญฤดีสถาบัน
ชาญหญิงมีอนาคตสดใจ
มีระเบียบ มีวินัย
ทุกคนล้วนพากเพียรเพื่อตน
หวังความสำเร็จดังปรารถนา
เราเชิดชูสีชมพู-แดงนี่
สร้างเรานั้นเจริญไกล

ขับร้อง : สุรัชนี เกาวนันท์
วงดนตรี : สังคีตสัมพันธ์

ไหว้ครูสู่ขวัญน้องใหม่

 
ญ. วันดีวันที่เรานัดพบกัน
พวกเรามาเพื่อให้แรงใจ
ช. ยังมีงานดิถีที่ไหว้ครู
คำพรวอนไหว้บูชา
(พร้อม) สุขสันต์วันรับน้องใหม่
ขอให้น้องโชคดี
(พร้อม) วันดีงานดิถีที่ไหว้ครู
รับน้องมาสู่ถิ่นขวัญ
รับขวัญวันต้อนรับน้องใหม่
สู่ขวัญอีกครา
เชิดชูครูท่านให้วิชา
ขอครูเมตตา ส่งเสริมคุณความดี
พี่แสนดีใจคราวนี้
เพื่อรุ่นพี่จะได้ช่วยกัน
เชิดชูพระคุณสถาบัน
ทวารวดีแห่งนื้คือชาวเรา

ขับร้อง : กอบศักดิ์-กฤติยาพร
วงดนตรี : สังคีตสัมพันธ์

แดนฤดีสีชมพู-แดง

 
แดนแห่งฤดีสีชมพูแดง
เป็นที่สร้างสรรค์ให้ความรู้นานมา
ความศรัทธา ธูปเทียนขอถวาย
มีขวัญใจวิไลงามสคราญ
แดนแห่งฤดีที่เรารักมั่น
รักกันหนักหนา
แดนแห่งฤดีสีชมพูแดง
เป็นที่สร้างขวัญให้ความรู้นานปี
แสนสุขศรีเป็นที่พักผ่อนกัน
สถาบันราชภัฏนครปฐม
แดนแห่งฤดีที่ภาคภูมิใจ
เป็นที่สุขแสน
เป็นดังแสงแห่งความงามเฉิดฉันท์
ศาลท่านพระพรหม ชื่นชมบูชา
น้อมใจและกายขอพระท่านประธาน
แสนอ่อนหวาน สวนปานเทพเสกสรร
ความผูกพัน เรานั้นร่วมศึกษา
เมื่อมาในถิ่นนี้
เป็นดั่งแสงแห่งความงามเฉิดฉันท์
มองสระสวยงามน้ำยังล้นปลี่
คล้ายแดนสวรรค์ทุกวันชวนรื่นรมย์
ขอชื่นชมนิยมตลอดไป
จำมั่นไว้ถนนมาลัยแมน
คล้องแขนกันก้าวไป

คำร้อง : อโศก สุขสถาพรฤทธิ์
ขับร้อง : อโศก สุขสถาพรฤทธิ์

ราชภัฏรื่นเริง

 
ช. ขอเชิญชวนน้องพี่มารื่นเริง
ญ. พวกเราอยู่ใกล้หรือไกล
ช. น้องของพี่วันนี้ช่างเบิกบาน
ญ. หวานจริงยิ่งแล้วพี่ยา
ช. พวกเราชาวราชภัฏน้ำใจซื่อสัตย์
ญ.มิได้ลืมเลือนถิ่นขวัญ
ช. ชมพูแดงแฝงด้วยความชื่นชม
(พร้อม) ในราชภัฏทุกที่ น้องพี่
ร่วมกันบันเทิงด้วยความสุขใจ
ฝังฝากฤทัยด้วยใจใฝ่หา
สวยงามสะคราญปานเทพแปลงกายมา
พบหน้าก็พูดจาเกี้ยวกัน
ใช่แกล้งเสกสรร
รักกันมั่นผูกพันไมตรี
นครปฐมเรียนด้วยกันนานปี
พวกเราแนบเนานิรันดร์

คำร้อง : อโศก สุขสถาพรฤทธิ์
ขับร้อง : เสถียร-ศรีสุดา

รำวงราชภัฏนครปฐม

 
(สร้อย) ดวงตาทุกดวงมองไป
มอบให้สถาบัน
ญ. เริงรื่นชื่นบานอุรา
ค.บ.พวกเราต่างสดชื่นรื่นรมย์
ช. เพื่อนเรา ศศ.บ.ต่างก็มา
หมู่เพื่อนพ้องน้องพี่
ญ.รำคู่อยู่เคียงคู่ขวัญ
วันนี้เราสนุกกันอีกครา
ช. เพื่อนเรา วท.บ.ก็สุขสันต์
ดังหนึ่งมิตรชิดใกล้
ญ. เพื่อนเก่าเรียนมาใกล้ชิด
เมื่อยามอยู่รื่นเริงกันเถิดหนา
(พร้อม) คู่ใครมารำเถิดวันนี้
เพื่อผูกมิตรชิดชม
ดวงใจทุกดวงรวมกัน
ราชภัฏนครปฐม
ยิ้มกันเริงร่าด้วยความชื่นชม
ทุกคู่งามสมกันดี
ใบหน้าดูช่างน่าสุขศรี
ร่ายรำให้เป็นที่ศรัทธา (สร้อย)
หัวใจไหวหั่นตื้นตันอุรา
มัวแต่รอช้าทำไม
สัมพันธ์เรารักกันกว่าใคร
แสนสุขฤทัยเพื่อนใจก็มา (สร้อย)
รักแนบสนิทจวบวันจากลา
เพื่อนชาวเฟื่องฟ้าเกลียวกลม
เชื่อมความสามัคคีรื่นรมย์
ขอให้สังคมของเรารุ่งเรือง (สร้อย)

คำร้อง : อโศก สุขสถาพรฤทธิ์
ขับร้อง : ศรีสุดา-อโศก

ลาราชภัฏนครปฐม

 
ลาขอลา
สรรค์สร้างให้ปัญญา
อยู่กันมาไม่เห็นแล้วดวงหน้า
ลาขอลา
ยังประจักษ์ความรักและอาลัย
สระน้ำบัวอำไพ
คงมีวันได้คืนกลับมา
จำไว้ว่าวันนี้
อยากเอ่ยวจีว่ามีใจผูกพัน
ยามคลาดแคล้ว พาให้เฝ้ารำพัน
เลือดเดียวกันศึกษามานานวัน
ลาด้วยจิตผูกพัน
ยังซาบซึ้งยังบูชา
คร่ำครวญหาคราจากไป
ลาน้องพี่ที่รัก
พระปฐมเจดีย์นั้นผูกพันใจ
เฟื่องฟ้าจำได้อย่างดี
ไม่ลืมสัญญา
ก่อนลามองหน้าอีกที
ลาราชภัฏนครปฐมแล้ว
เราพี่น้องชมพูแดง
ถิ่นขวัญที่เทิดทูน

คำร้อง : อโศก สุขสถาพรฤทธิ์
ขับร้อง : โฉมฉาย อรุณฉาน


ตราสัญลักษณ์
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
ตราพระราชลัญจกร สีของสัญลักษณ์ “ตราพระราชลัญจกร”
สีน้ำเงิน แทนค่า สถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ให้กำเนิดและพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยราชภัฏ”
สีเขียว แทนค่า แหล่งที่ตั้งของสถาบันฯ 36 แห่งในแหล่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สีทอง แทนค่า ความเจริญรุ่งเรืองทางภูมิปัญญา
สีส้ม แทนค่า ความรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ก้าวไกลใน 36 สถาบันฯ
สีขาว แทนค่า ความคิดอันบริสุทธิ์ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ในการปฏิบัติหน้าที่สนองพระมหากรุณาธิคุณนั้น ชาวราชภัฏจำเป็นต้องมีอุดมการณ์ร่วมกัน
เพราะอุดมการณ์เป็นเครื่องกำกับทิศทางและการดำเนินงานมิให้คลอนแคลนหรือเลื่อนลอย
ไปตามกระแสของเหตุการณ์ ในเมื่อคำว่า “ราชภัฏ”แปลว่า “คนของพระราชา” และตราสัญลักษณ์
ประจำสถาบันราชภัฏก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระราชลัญจกรประจำ พระองค์ของพระราชา

ดอกไม้
ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
ดอกเฟื่องฟ้า เฟื่องฟ้า ถูกกำหนดเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยในสมัยของท่าน อาจารย์พเยาว์ ศรีหงส์ โดยท่านเห็นว่าเป็นต้นไม้ที่
เจริญเติบโตได้ดี ต้องการแสงแดดจัดในสภาพกลางแจ้ง สามารถรับแสงแดดได้ตลอดวัน แต่ถ้าได้รับแสงแดดไม่เพียงพอจะทำให้
สีของใบไม่เข้ม ออกดอกน้อย ต้องการอุณหภูมิปานกลาง หรือร้อนชื้น เมื่อโตขึ้นต้องการน้ำปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ ถ้ารดน้ำมากเกินไป
จะไม่ออกดอก และเฟื่องฟ้า ได้รับสมญาว่า “ราชินีแห่งไม้ประดับ” เนื่องจากบ้านเรือนและสถานที่สำคัญต่าง ๆ นิยมนำมาใช้ประโยชน์
ในด้านสุนทรียภาพ ประดับสวน อาคารเฟื่องฟ้า มีชื่อสามัญว่า Bougainvillea, Paper Flower และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bougainvillea Hyhrida ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ ได้แก่ Peper Flower, Kertas, ตรุษจีน อยู่ในตระกูล Nyctaginaceae ถูกค้นพบครั้งแรกในประเทศบราซิล โดยนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศสราวปี คศ. 1766 - 1769 และได้ถูกนำไปปลูกยังส่วนต่างๆ ของโลก เริ่มจากยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเซีย สำหรับในประเทศไทย มีการนำพันธุ์เฟื่องฟ้า เข้ามาจากสิงคโปร์ ครั้งแรกราวปี พศ.2423 ใน สมัยรัชกาลที่ 5


สีประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
คือสี ชมพู - แดง มาจากในวันพิธีเปิดโรงเรียนฝึกหัดครูนั้นตรงกับวันอังคาร จึงเป็นเหตุให้กําหนดเอา สีชมพู -แดง
เป็นสีธงกีฬาประจําโรงเรียนฝึกหัดครู